วันนี้จะมาแนะนำข้อมูลผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์และผู้ท่องโลกอินเตอร์เน็ตทุกคน ว่าด้วย พรบ. คอมพิวเตอร์ ประจำปี 2550 เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมู้ใช้งานคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องรู้ไว้บ้าง เพื่อป้องกันการใช้งานที่ผิดประเภท ซึ่งอาจจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามถ้าทำผิดไปก็จะได้รู้ตัวหรือพึ่งระวังไม่ให้ทำผิด และเป็นข้อมูลสำหรับป้องกันตัวเองจากคนอื่นที่แอบอ้าง เพื่อจะใส่ร้ายตัวผู้ใช้เองก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
พรบ. คอมพิวเตอร์ ประจำปี 2550 แห่งประเทศไทย
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น มีความสำคัญและเกี่ยวข้องอย่างมากกับวงการคอมพิวเตอร์ เพราะปัจจุบันคอมพิวเตอร์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราโดยเข้ามาเกี่ยวข้องและมีบทบาทในหลายๆ ด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไอทีอย่างเราๆ ท่านๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพื่อให้ทราบถึงกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ตั้งใจ ในที่นี้จะเป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้เป็นหลัก สำหรับรายละเอียดทั้งหมดนั้นสามารถอ่านได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (http://www.mict.go.th) หรือ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐ ณ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐
มาตราต่างๆ ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ มีดังนี้
• มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
• มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐
(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือ ในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาทถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี
• มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
• มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สรุปพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้
• สรุปมาตรา ๕ การแอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๖ การแอบรู้มาตรการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๗ การแอบเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๘ การดักจับข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๙ การรบกวนหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๐ การรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๑ การส่งสแปมเมล์ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๒ การกระทำความผิดต่อความมั่นคง (1) จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท (2) จำคุกไม่เกิน 3-15 ปี ปรับ 60,000-300,000 บาท หรือหากการกระทำส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมีโทษจำคุก 10-20 ปี
• สรุปมาตรา ๑๔ การปลอมแปลงข้อมูลหรือเผยแพร่เนื้อหาอันไม่เหมาะสม จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• สรุปมาตรา ๑๖ การเผยแพร่ภาพจากการตัดต่อ/ดัดแปลง จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำถามที่มีการถามบ่อยเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐
สำหรับคำถาม 3 คำถามที่มีการถามบ่อยเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีดังนี้
1. ถาม : พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้เมื่อใด
ตอบ : พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป
2. ถาม : ทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ตอบ : นั่นก็เพราะว่าทุกวันนี้คอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากยิ่งขึ้น ซึ่งมีการใช้งานคอมพิวเตอร์โดยมิชอบโดยบุคคลใดๆ ก็ตามที่ส่งผลเสียต่อบุคคลอื่น รวมไปถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือมีลักษณะลามกอนาจาร จึงต้องมีมาตรการขึ้นมาเพื่อเป็นการควบคุมนั่นเอง
3. ถาม : แล้วแบบไหนจึงจะเรียกว่าเข้าข่ายความผิด
ตอบ : การกระทำที่เข้าข่ายความผิดมีดังนี้
• การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ
• การเปิดเผยข้อมูลมาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ
• การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ
• การดักรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
• การทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ
• การกระทำเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ผู้อื่นไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
• การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์รบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของคนอื่นโดยปกติสุข
• การจำหน่ายชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
• การใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทำความผิดอื่น ผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด
• การตกแต่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพของบุคคลอื่น
รายละเอียดเพิ่มเติม
รายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร: http://www.mict.go.th หากต้องการดาวน์โหลดไฟล์สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ ดังนี้
• พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ในรูปแบบ pdf ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ http://www.mict.go.th/assets/portals/1/files/download/001_28_10.pdf